VCD

วันที่โพสต์: 5 พ.ค. 2012, 12:40:30

คำเป็นคำตาย

การเรียนรู้เรื่องคำเป็นคำตายมีประโยชน์ในเรื่องของการผันเสียงวรรณยุกต์ หากนักเรียนมีความรู้เรื่องคำเป็นคำตาย จะสามารถผันเสียงวรรณยุกต์ได้อย่างถูกต้อง และจะเป็นประโยชน์มากในการแต่งคำประพันธ์ประเภทร้อยกรอง ซึ่งนักเรียนจะได้เรียนในโอกาสสูงต่อไป

การโต้วาที ศาสตร์แห่งวาทศิลป์

เป็นเรื่องของการใช้เหตุผล ใช้วาทศิลป์ มาถกเถียงหักล้างกัน เป็นศิลปะชั้นสูงในการจูงใจของผู้มีปัญญาที่พึงกระทำกัน ไม่ใช่เรื่องของการทะเลาะเบาะแว้ง ไม่ใช่เรื่องของคนปากอยู่ไม่สุข

รูปแบบ

การโต้วาทีแบ่งออกเป็น ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายเสนอ และ ฝ่ายค้าน มีจำนวนผู้โต้วาทีฝ่ายละ ๓ หรือ ๔ คน แต่ปกติจะใช้ ๔ คน

หน้าที่ของแต่ละฝ่าย

ฝ่ายเสนอ ทำหน้าที่เสนอข้อมูลและค้านฝ่ายค้าน

ฝ่ายค้าน ทำหน้าที่ค้านข้อมูลฝ่ายเสนอและเสนอข้อมูลที่ดีกว่า

ญัตติของการโต้วาที

ญัตติ คือ ประเด็นหรือหัวข้อของการโต้วาที ซึ่งต้องเป็นญัตติกลางๆ ที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ โดยที่ฝ่ายเสนอหรือฝ่ายค้านไม่ได้เปรียบหรือเสียเปรียบกันมากนัก ก้ำกึ่งชนิดที่แต่ละฝ่ายสามารถหาเหตุผลที่ดีกว่ามาชนะอีกฝ่ายหนึ่งได้ เช่น ญัตติที่ว่า “น้ำท่วมดีกว่าฝนแล้ง” “ชนบทดีกว่าในเมือง” “รับราชการดีกว่าทำงานเอกชน” “ภัยธรรมชาติร้ายกาจกว่าภัยมนุษย์” เป็นต้น

กติกา มารยาท

๑. แต่ละทีมจะมีสมาชิก ๓ หรือ ๔ เท่าๆ กัน

๒. แต่ละทีมจะมีหัวหน้าทีม ๑ คน ที่เหลือจะเป็นผู้สนับสนุน

๓. เวลาในการโต้วาที หัวหน้าทีมมีเวลา ๔ นาที ส่วนผู้สนับสนุนแต่ละคนมีเวลา ๓ นาที และหัวหน้าทีมสรุปอีกคนละ ๓ นาที

๔. ก่อนหมดเวลา ๓๐ วินาที จะมีเสียงสัญญาณเตือน ๑ ครั้ง เมื่อหมดเวลาจะมีสัญญาณเตือน ๒ ครั้ง และเมื่อเวลาเกินไปทุกๆ ๓๐ วินาทีจะมีสัญญาณเตือน ๑ ครั้ง

๕. ถ้าพูดสั้นกว่าเวลาที่กำหนด ๓๐ วินาที หรือพูดเกินเวลาที่กำหนดทุก ๓๐ วินาทีจะถูกหักคะแนน

๖. การโต้วาทีจะเริ่มจากหัวหน้าฝ่ายเสนอ หัวหน้าฝ่ายค้าน ตามมาด้วยผู้สนับสนุนฝ่ายเสนอและฝ่ายค้านสลับกันไปจนหมด สำหรับในรอบสรุป หัวหน้าฝ่ายค้านจะสรุปก่อนหัวหน้าฝ่ายเสนอ

การให้คะแนนการโต้วาที

๑. คะแนนเหตุผล ๓๐ คะแนน

๒. คะแนนหักล้าง ๓๐ คะแนน

๓. คะแนนวาทศิลป์ ๒๐ คะแนน

๔. คะแนนหลักฐานอ้างอิง ๑๐ คะแนน

๕. คะแนนมารยาท ๑๐ คะแนน

การตีญัตติ

การตีญัตติก็คือการแปลญัตติ หรือการแปลความหมายของหัวข้อหรือประเด็นที่ใช้โต้วาทีนั่นเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก โดยเป็นหน้าที่หลักของหัวหน้าทีมทั้งสองฝ่ายเมื่อขึ้นพูดในรอบแรก เพื่อเป็นการกำหนดขอบเขตของเรื่อง ตีกรอบญัตติให้เป็นประโยชน์กับฝ่ายตนมากที่สุด จนบางครั้งผลการแพ้ชนะอาจอยู่ที่การตีญัตติเลยทีเดียว

คุณสมบัติของผู้โต้วาที

๑. ต้องมีทักษะในการโต้วาที คือ มีความมั่นใจในตนเอง ใช้ลีลาท่าทางน้ำเสียงได้ดี มีสำนวนโวหารดี มีลูกเล่นและมีอารมณ์ขัน

๒. ต้องเตรียมตัวดี คือ เตรียมข้อมูลมาดี เลือกประเด็นที่จะนำเสนอดี แบ่งข้อมูลในการนำเสนอดี เตรียมค้านได้ดี และเตรียมอุปกรณ์ประกอบได้ดี

๓. ต้องเป็นผู้มีไหวพริบปฏิภาณดี คือ แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี ดักทางฝ่ายตรงข้ามเก่ง มีการใช้มุขแห่งหรือมุขสดเก่ง แก้ต่างได้อย่างลื่นไหล และรู้จักใช้ข้อมูลของฝ่ายตรงข้ามย้อนศรกลับไป

๔. ต้องเป็นผู้มีใจคอหนักแน่น คือ ไม่หวั่นไหว ไม่โกรธ ไม่หงุดหงิด มองโลกในแงดี และมีอารมณ์ขัน

๕. ต้องรู้จักทำงานเป็นทีม คือ มีการตั้งทีม A ทีม B เพื่อซ้อมโต้กัน แบ่งกันหาข้อมูลหาคำคมหรือมุขตลกและหาข้อมูลของฝ่ายตรงข้าม ที่สำคัญต้องซ้อมกันอย่างจริงจัง

เทคนิคการเสนอ

๑. เสนอข้อมูลหลักๆ ที่หนักแน่นน่าเชื่อถือและเสริมประเด็นหลักให้หนักแน่นขึ้น

๒. เสนอข้อมูลที่เป็นผลลบกับฝ่ายตรงข้าม

๓. เสนอประเด็นที่ไม่สำคัญหรือไม่เกี่ยวข้องเพื่อหลอกล่อ

เทคนิคการค้าน

๑. หัวใจของการค้านคือ ถ้าค้านเขาตกเหมือนยกเราขึ้น

๒. ต้องค้านด้วยเหตุผล ข้อมูลและหลักฐานที่น่าเชื่อถือกว่า

๓. ต้องรู้จักค้านล่วงหน้าหรือดักทางฝ่ายตรงข้าม

๔. อะไรที่ค้านไม่ได้ให้ปล่อยไป ยกเว้นประเด็นที่เข้าตากรรมการหรือได้รับเสียงปรบมือจากผู้ชมต้องค้านแบบข้างๆ คูๆ

เคล็ดวิชาในการโต้วาที

๑. เมื่อเริ่มพูด ต้องทักทายผู้ดำเนินรายการ คณะกรรมการ ฝ่ายข้าม และท่านผู้ชมว่า

๒. ต้องขึ้นต้นให้น่าสนใจและลงท้ายให้จับใจโดยใช้เพลง กลอน หรือคำคม

๓. ต้องมีสไตล์หรือจุดเด่นเป็นของตนเอง

๔. ต้องทำให้ผู้ชมและคณะกรรมการเชื่อเราและกลายมาเป็นพวกเราให้มากที่สุด

๕. ห้ามนำเรื่องสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์มาพูดถึงหรืออ้างอิงเพราะเป็นการไม่สมควร

๖. พูดให้น่าเชื่อถือที่สุด มีหลักฐานอ้างอิงที่เหนือกว่าฝ่ายตรงข้าม

๗. ใช้เวลาให้พอดีและคุ้มค่าให้มากที่สุด

๘. ข้อนี้สำคัญที่สุด คือต้องมีน้ำใจนักกีฬา รู้แพ้รู้ชนะ เพราะผลแพ้ชนะไม่ได้สำคัญเท่าการที่เราได้ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างดี และสามารถสร้างความเพลิดเพลินและให้สาระที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ชม